1. คิดว่าเรียนศิลปะแล้วมีแต่ความสนุกไม่เครียด
ศิลปะเป็นงานอดิเรกที่หลายคนมีไว้เพื่อผ่อนคลาย ข้อนี้เราไม่เถียงค่ะ แต่หากเรียนศิลปะอย่างจริงจังมันมีรายละเอียดมากกว่านั้นหลายเท่า และงานก็หนักสุดๆ ต้องส่งชิ้นงานทุกอาทิตย์ แถมมีความกดดันจากเพื่อนที่เก่งกว่าอีกด้วย เรียกได้ว่าต้องใจรักจริงๆ ถึงจะเรียนรอด ศิลปะเป็นวิชาที่ไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน ส่วนใหญ่ต้องเอางานมาทำต่อในเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าอยากจะมาเรียนสนุกลุกนั่งสบาย ขอให้คิดใหม่ค่ะ
2. ต้องบิ้วอารมณ์ให้ได้ที่ก่อนถึงจะเริ่มทำงานศิลปะได้
การมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ทำถือเป็นเรื่องดีค่ะ แต่บางคนมัวแต่บิ้วตัวเองจนไม่ได้เริ่มลงมือทำอะไรสักที หรือบางทีก็คิดว่าไอเดียยังไม่เจ๋งพอ ขอคิดไปเรื่อยๆ ก่อนดีกว่า อยากทำแล้ว ตู้ม...! ทีเดียวให้สุดยอดไปเลย ซึ่งคนที่คิดแบบนี้ส่วนใหญ่จะส่งงานไม่ทันเดทไลน์ค่ะ ฉะนั้น คิดอะไรออกมาได้ก็ลงมือทำไปก่อนดีกว่านะ ถ้ามันยังไม่ถูกใจก็ค่อยๆ ปรับแก้ต่อยอดจากสิ่งที่ทำไปเรื่อยๆ
3. เล่นท่าง่ายเกินไป
ผลงานศิลปะที่ดีควรจะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีตัวตนของศิลปินอยู่ในนั้น และถ้าจะให้ดีก็ควรริเริ่มทดลองอะไรใหม่ๆ บ้าง ผลงานจะได้ไม่ซ้ำซากน่าเบื่อค่ะ
4. อ่อนซ้อม
นักเรียนศิลปะหลายคนมีไอเดียยอดเยี่ยม แต่ขาดทักษะที่จะถ่ายทอดความน่าทึ่งเหล่านั้นออกมาให้ดีพอ ผลงานจึงดรอปลงอย่างน่าเสียดาย ผู้เรียนศิลปะควรรู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนอะไรและหมั่นฝึกฝนให้ดียิ่งขึ้น
5. ขาดการพัฒนาไอเดีย
ผลงานของนักเรียนศิลปะ ควรจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ นักเรียนไม่ควรปล่อยให้ไอเดียย่ำอยู่กับที่ ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ เช่น เดินชมหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ดูงานศิลปะของต่างประเทศ หรือบางทีก็ข้ามไปรับสื่อแขนงอื่นๆ เช่น หนัง เพลง หนังสือ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับตัวเองบ้าง
6. ไม่พอใจในผลงานก็เริ่มใหม่
ใครๆ ก็อยากทำงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบกันทั้งนั้น แต่คำว่าสมบูรณ์แบบมันไม่มีอยู่จริงหรอกค่ะ โดยเฉพาะในโลกของการทำงานจริง งานจะดีอย่างเดียวไม่ได้ งานต้องเสร็จตามกำหนดเวลาด้วย ดังนั้น ในชั้นเรียนวิชาศิลปะการส่งงานให้ตรงตามเวลา จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ความสวยงามอลังการของผลงาน นักเรียนบางคนพอทำงานไปแล้วไม่ถูกใจก็ทิ้งแล้วไปทำชิ้นใหม่ สุดท้ายพอถึงกำหนดส่ง สิ่งที่ได้ออกมากลับเป็นงานที่เสร็จครึ่งๆ กลางๆ สองชิ้น เอาจริงๆ ถ้าเลือกทำชิ้นเดียว แล้วพยายามพัฒนาต่อให้มันดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ น่าจะดีกว่านะคะ
7. ฝึกวาดจากรูปวาดของคนอื่น
ไม่แนะนำให้ทำอย่างแรงเลยค่ะ เพราะผลงานที่ได้จะขาดความเป็นตัวของตัวเองและขาดมุมมองใหม่ๆ นักเรียนศิลปะควรวาดจากวัตถุต้นแบบโดยตรง และแตกไอเดียจากความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมากกว่า แต่ก็อาจมีบางบทเรียนที่อาจารย์ให้โจทย์เป็นการเลียนแบบรูปวาดของศิลปินอื่นอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ก็ต้องดูความเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไปค่ะ
8. เขียนคำอธิบายชิ้นงานยาวเกินไป
จริงๆ เรื่องการเขียนอธิบายชิ้นงานมันไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าแบบไหนถูกหรือผิดหรอกค่ะ แต่งานศิลปะที่ดีควรจะสามารถสื่อสารได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าต้องพึ่งคำอธิบายยืดยาวเกินพอดี นั่นอาจแปลว่างานชิ้นนั้นไม่สามารถสื่อสารได้ดีพอ แต่ถ้าเป็นวิชาวิเคราะห์ วิจารณ์งานศิลปะ แบบนี้จัดเต็มเลยค่ะ เขียนออกมาให้เต็มที่มีเท่าไหร่ใส่ไปไม่ต้องยั้ง
9. ขาดทักษะในการพรีเซนต์งาน
บางครั้งคนในสายอาชีพอื่นเขาอาจจะเข้าไม่ถึงผลงานของเรา เราก็ไม่ควรไปติสต์แตกใส่เขานะคะ (โดยเฉพาะถ้าคนนั้นเป็นลูกค้า) นักเรียนศิลปะที่ดีควรมีทักษะในการนำเสนอผลงานติดตัวไว้บ้าง จะได้สามารถอธิบายงานของเราให้คนทั่วไปเข้าใจด้วยภาษาเข้าใจง่ายและทรงพลัง หรือพูดง่ายๆ ก็คือขายงานเป็นนั่นเอง
10. ผัดวันประกันพรุ่ง
ที่สุดของความหายนะในนักเรียนศิลปะ ก็คือนิสัยผัดวันประวันพรุ่งนี่แหละค่ะ นี่คืออุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ขวางความสำเร็จของผู้คนมานักต่อนัก หากคุณมีไอเดียยอดเยี่ยม ฝีมือเลิศล้ำ แต่ไม่ลงมือทำงานมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรค่ะ จำไว้ว่ามีของต้องสำแดงนะคะ ว่าแล้วก็ไปลงมือทำงานที่เรารักกันดีกว่า